ฤดูฝนกับโควิด-19
ฤดูฝนกับโควิด-19
- ในช่วงฤดูฝนของทุกปีในประเทศไทย จะพบการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ โดยในปี 2562 มีผู้ป่วย 390,733 ราย เสียชีวิต 27 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุดได้แก่ กลุ่มเด็กเล็กและวัยเรียน การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้
- ในช่วงฤดูฝนนี้ สิ่งที่ยังคงต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย กินของร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 1- 2 เมตร หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่แออัด ไม่มีอากาศถ่ายเท เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
“ฝน” ทำให้โควิด-19 ระบาดหนักขึ้นจริงหรือ?
มีงานวิจัยหลายชิ้นซึ่งมีข้อมูลขัดแย้งกันเอง บางงานวิจัยบอกว่าความชื้นสูงทำให้การระบาดน้อยลง แต่บางงานวิจัยกลับบอกว่าความชื้นสูงยิ่งทำให้การระบาดรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยเพียงไม่กี่ชิ้นที่บอกว่าความชื้นสูงจะทำให้ระบาดหนัก รายงานชิ้นนั้นนำโดย Jin Bu แห่ง สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน พบว่าไวรัสจะแพร่กระจายได้ดีขึ้นในความชื้นสัมพัทธ์ 75% และปริมาณฝนน้อยกว่า 30 มิลลิเมตรต่อเดือน แต่งานวิจัยนี้สวนทางกับคนอื่นทั้งหมด
ดร. อลัน อีแวนเจลิสตา (Dr. Alan Evangelista) ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและวิทยาไวรัสแห่งโรงพยาบาลเด็กเซนต์คริสโตเฟอร์ ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสและอนุภาคไข้หวัดใหญ่มานานหลายปี ในงานวิจัยของดร. อลัน บอกว่า เมื่อความชื้นเพิ่มขึ้นขนาดของไวรัสจะใหญ่ขึ้นและลอยออกมาจากร่างกายสู่อากาศอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามเมื่อความชื้นต่ำจะมีการระเหยอย่างรวดเร็วของละอองที่ออกมาจากระบบทางเดินหายใจ นั่นหมายความความชื้นในอากาศ มีส่วนทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ และโควิด 19 ในช่วงฤดูฝน
ในช่วงฤดูฝนของทุกปีในประเทศไทย จะพบการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ โดยกรมควบคุมโรค สรุปสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2562 พบว่ามีผู้ป่วย 390,733 ราย เสียชีวิต 27 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุดได้แก่ กลุ่มเด็กเล็กและวัยเรียน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดขึ้นก็คือความชื้นในอากาศและอุณหภูมิที่เย็นลง เพราะจะทำให้ไวรัสมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเตือนประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการประกาศว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้วตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แม้ว่าช่วงนี้จะพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจำนวนน้อยมาก โดยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นการเดินทางมาจากต่างประเทศ แต่สถานกาณ์ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกมากกว่าวันละแสนราย จึงเป็นการยากที่จะควบคุมและจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนาวัคซีนที่สามารถยับยั้งโรคนี้ให้หมดไป
การป้องกันตนเองจากไข้หวัดใหญ่และไวรัสโควิด-19
สามารถทำได้โดยวิธีเดียวกัน หากทุกฝ่ายป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างเคร่งครัด จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลงตามไปด้วย ตรงกันข้ามในช่วงฤดูฝนจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์ต่างๆ และมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโคโรนาไวรัสเช่นกัน สิ่งที่ยังคงต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ
- ล้างมือบ่อยๆ
- สวมหน้ากากอนามัย
- กินของร้อนใช้ช้อนกลางส่วนตัว
- เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 1- 2 เมตร
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่แออัดไม่มีอากาศถ่ายเท
- ควรสำรองหน้ากากผ้าไว้วันละหลายๆชิ้น
- ถ้าโดนละอองฝนแล้วหน้ากากเปียกชื้น ควรจะเปลี่ยนใหม่เพราะหน้ากากที่เปียกชื้นจะไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
การศึกษาหลายเคส มีการสนับสนุนว่าความชื้นมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายของโรคตามฤดูกาล เมื่อมีคนไอหรือจาม จะมีละอองน้ำลายเล็กๆ ขึ้นสู่อากาศ (หากคนนั้นกำลังป่วย ละอองเหล่านี้จะมีไวรัสผสมอยู่ด้วย) ดังนั้นสรุปได้ว่าไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นเช่นไร ชื้นหรือแห้ง ประชาชนควรปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และปฏิบัติตามหลักการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพราะโรคนี้สามารถแพร่กระจายจากคนต่อคนได้ง่าย
การรับมือโรคโควิด-19 ในฤดูฝน
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดหรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน
- หลีกเลี่ยงการนำมือมาจับหน้า ตา จมูกและปาก
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ งดรับประทานของดิบ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์หรือไข่ก็ตาม
- รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัดและไม่มีอากาศถ่ายเท
ที่มา : https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%9D%E0%B8%99-%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94-19