Home
บทความโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ
สยามรัฐรายวัน 2 พฤษภาคม 2555
เนลสัน แมนเดลาบอกว่า “การศึกษาคืออาวุธที่มีพลังที่สุดที่คุณใช้เพื่อเปลี่ยนโลก” หรือที่เบนจามิน ดิสราเอลี อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรเคยบอกไว้นานแล้วว่า “ชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน”
โทนี แบลร์ บอกไว้ตอนที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีว่า “ถามผมว่า อะไรสำคัญที่สุด 3 อย่างในรัฐบาลของผม ผมจะบอกคุณว่า การศึกษา การศึกษา และการศึกษา”
เสียดายที่สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ งบประมาณการศึกษามากที่สุดก็จริง แต่ไม่ได้มีความหมายอะไรนัก เพราะงบพัฒนาจริงและวิสัยทัศน์การศึกษานั้นไม่ชัดเจน ไม่มีพลัง เป็นการศึกษาที่ไม่มียุทธศาสตร์ อาจมีในกระดาษแต่ไม่มีในความเป็นจริง
ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ คือคนที่มีสายตาแหลมคม มองเห็นกว้าง ไกล ลึก และมองเห็นภาพฝันที่คนอื่นมองไม่เห็น หรืออาจเห็น แต่ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์นอกจากจะเห็นภาพฝันนั้น ยังมีความสามารถพัฒนาปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ ที่จะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และสามารถทำให้ภาพฝันนั้นเกิดขึ้นจริง
คุณหมอประเวศ วะสี เคยเสนอให้ผู้นำไทยมีวิสัยทัศน์การศึกษาโดยให้ประกาศว่า จะทำการศึกษาที่ช่วยคนไทยให้พ้นทุกข์ทั้งแผ่นดิน
เรายังไม่เคยได้ยินวิสัยทัศน์อะไรที่จี้ใจแบบนี้สักครั้ง แต่ละอย่างที่ประกาศและเขียนกันที่เรียกกันว่าวิสัยทัศน์ก็ยาวเหยียด เพราะไปลอกวัตถุประสงค์มาใส่ เพราะไม่เข้าใจแม้แต่คำว่าวิสัยทัศน์ คำว่ายุทธศาสตร์ คำว่าเป้าประสงค์ ว่ามีความหมายและเกี่ยวข้องกันอย่างไร
วันนี้การศึกษาไทยในทุกระดับจึงมีปัญหา ขัดข้อง ไม่ลงตัว วุ่นวายอยู่กับการหาวิธีการ เครื่องมือ ไม่รู้จะเอาเอเน็ต โอเน็ต หรือวิธีอะไรที่ชาวบ้านฟังแล้วเวียนหัว ตามไม่ทัน มีปัญหาเพราะเป้าหมายไม่ชัด วิธีการกับเป้าหมายไปด้วยกันไม่ได้ วัดผลทีไร ประเมินผลแบบไหนจึงกลายเป็นสาละวันเตี้ยลงทุกที
สับสนระหว่างเครื่องมือการเรียนรู้กับวีธีคิด วีธีเรียนรู้ รีบร้อนลงทุนซื้อแท็บเล็ตเพื่อแจกเด็ก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชานิยม นโยบายของการเมืองที่ต้องการฐานเสียง รวมทั้งผลประโยชน์อื่นๆ โดยไม่มีความพร้อมด้านการจัดการเรียนรู้ คุณภาพครู
นี่คือวีธีการครอบงำทางการเมืองที่แยบยลอย่างหนึ่ง แทนที่จะเน้นการปฏิรูปการศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งรูปแบบ เนื้อหา กระบวนการ วิธีการ กลับไปซื้อแท็บเล็ตแจกเด็ก เหมือนพ่อแม่ที่ซื้อของเล่นชิ้นใหม่ให้ลูก จะได้ไม่งอแง แต่ไม่ได้สนใจว่า เครื่องมือนั้นเหมาะสมกับลูกมากน้อยเพียงใด
ความจริง ปรัชญาการศึกษาเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนอะไร แต่คนไทยชอบทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ประเทศแคนาดามีกรอบคิดการศึกษาไว้ง่ายๆ 4 อย่างว่า เรียนรู้ (learn to know) เรียนปฏิบัติ (learn to do) เรียนเป็นผู้เป็นคน (learn to be) เรียนอยู่ร่วมกับคนอื่น (learn to live with others) คนไทยอ่านแล้วก็บอกว่า เราก็ทำเหมือนกัน แต่เป็นความเหมือนที่ไม่เหมือน
เขาแยกแยะออกมาชัดเจนว่า เรียนรู้ คือ รู้อะไรบ้าง รู้ไปทำไม รู้อย่างไร ซึ่งก็คือการเรียนรู้จักคิด แยกแยะได้ เชื่อมโยงได้ จึงไม่ใช่การเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ท่องจำเอาเป็นเอาตายแล้วไปสอบ แต่เขาสอนให้เรียนรู้เป็น ตั้งคำถามเป็น รู้จักกระบวนการตั้งคำถามและหาคำตอบ ไม่ใช่วิ่งไปหาแต่คำตอบเก่าที่คนอื่นเขาคิดไว้แล้ว แต่ค้นหาข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูล จนเกิดความรู้ความเข้าใจ และกลายเป็นความรู้ใหม่
เขาเรียนปฏิบัติ (learn to do) หมายถึงการเรียนด้วยการลงมือทำ เรียนว่ายน้ำก็ต้องลงน้ำและหัดว่าย เรียนเรื่องชีวิตก็ทำโครงงานแก้ปัญหาชีวิต เรียนอย่างไรให้สุขภาพดี ลดน้ำหนัก ลดความเครียด ปรับการกินการอยู่ให้เหมาะสม ใช้ความรู้ ใช้หลักวิชาในการแก้ไขปัญหา ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน พัฒนาสิ่งแวดล้อม เรียนให้มีทักษะในเรื่องต่างๆ ที่ต้องใช้ในชีวิตจริง
เรียนเป็นผู้เป็นคน (learn to be) เจตนาแปลเช่นนี้เพราะเชื่อว่า เขาให้ความสำคัญกับการศึกษาที่พัฒนาคนให้เป็นคนดี มีคุณธรรมหรือมีความสัตย์ซื่อทางศีลธรรม (moral integrity) ไม่ใช่พัฒนาคนให้เป็นเจ้าคนนายคน หรือให้เรียนเพื่อจะได้มีสถานภาพทางสังคม ให้เป็นใครสักคน
เรียนเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญในสังคมที่ผู้คนอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตัวใครตัวมัน มีความเป็นตัวของตัวเองสูงจนกลายเป็นความเห็นแก่ตัว เอาเปรียบคนอื่น แก่งแย่งแข่งขันในระบบทุนนิยม การมีความสัมพันธ์ที่ดีจึงหมายถึงการเคารพคนอื่น ให้เกียรติคนอื่น
ความจริง ทั้งหลายทั้งปวงก็มีอยู่ในสังคมไทย กลับไปอ่านปรัชญาการศึกษาไทยของพระราชวรมุนี (ปัจจุบันคือพระพรหมคุณาภรณ์ - ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ก็พบสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะข้อที่ 4 ที่ว่าด้วยการศึกษาที่อยู่ร่วมกับคนอื่น ท่านพูดถึงพรหมวิหารสี่ ซึ่งเป็นการจัดความสัมพันธ์ที่ละเอียดลึกซึ้งมาก
โชคร้ายที่สังคมไทยไม่ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนา “การศึกษาพลเมือง” (civic education) ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อเตรียมผู้คน โดยเฉพาะเด็กเยาวชนให้ทำหน้าที่เป็น “พลเมือง” ซึ่งมีบทบาททางการเมืองอย่างสำคัญ การเมืองจึงกลายเป็นเพียงการไปเลือกตั้ง การมีสภา มีส.ส.ที่ไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ แต่ทำทุกอย่างที่ไม่ควรทำ
การเมืองในการศึกษาพลเมือง หมายถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การศึกษาพลเมือง จึงเป็นการศึกษาทางการเมือง ที่ปราชญ์ตะวันตกบอกว่า “เป็นการบ่มเพาะและพัฒนาคุณธรรม ความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง”
ในประเทศที่การศึกษาพลเมืองเข้มแข็ง “คนมีความรู้ปกครองง่าย ครอบงำยาก และกดขี่ข่มเหงไม่ได้เลย” (วิลเลี่ยม เบลค)